แนวทางการรักษามะเร็งตับ

เแนวทางการรักษามะเร็งตับ ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการจัดการกับสารอาหารที่ดูดซึมเข้าจากลำไส้ สร้างสารต่างๆ เช่น สารประกอบที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน การแข็งตัวของเลือด และทำลายสารพิษที่รับประทานเข้าไป "มะเร็งตับ" เป็นหนึ่งในมะเร็งที่เคยรับรู้กันมาว่าถ้าใครเป็นแล้วโอกาสรอดมีน้อยมาก ในสมัยก่อน   ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งตับ มักได้รับการคาดการณ์จากแพทย์ต่อโดยทันทีว่า จะอยู่ได้ไม่เกิน 4 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง โดยที่ไม่มีการรักษาใดๆ ให้เลย หรือไม่ก็เป็นเพียงให้ยาทุเลาตามอาการทั่วไป
การรักษาโดยการผ่าตัดมะเร็งตับสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่มีข้อแม้ว่าคือต้องเป็นก้อนเดียว และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ลึกมาก หรือเฉพาะในกลีบซ้ายของตับ แต่ผู้ป่วยมะเร็งตับในบ้านเรามักมาพบแพทย์เมื่ออยู่ในระยะที่ไม่สามารถที่จะผ่าตัดให้หายขาดได้ รวมไปถึงบางรายที่แม้ผ่าไปแล้ว ต่อมาพบมะเร็งเกิดขึ้นซ้ำอีก เนื่องมาจากมะเร็งได้กระจายไปในระดับเซลล์แล้วตั้งแต่ก่อนผ่าตัด แต่ยังไม่ถึงกับเป็นก้อนให้ตรวจพบได้ก่อนหน้านี้



การใช้สายสวนนำยาเข้าไปก้อนเนื้องอกในตับโดยตรง
ปัจจุบันมีการรักษาอีกทางหนึ่งซึ่งจะช่วยยืดอายุผู้ป่วยมะเร็งตับให้ยืนยาวต่อไปได้อีก นั่นคือการนำยาเข้าไปรักษาที่ตัวก้อนเนื้องอกในตับโดยตรง วิธีนี้รังสีแพทย์จะใช้สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กประมาณไส้ปากกา สอดเข้าหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบ และอาศัยกระบวนการภายใต้เครื่องเอกซเรย์ที่เห็นภาพเคลื่อนไหวจากจอได้ตลอดเวลา เพื่อให้สายสวนขึ้นไปที่บริเวณตับและไปยังหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงตัวเนื้องอกโดยตรง แล้วฉีดยา ผ่านสายสวนเข้าไปที่ก้อนเนื้องอกระหว่างทำผู้ป่วยไม่ต้องถูกวางยาสลบ เพราะไม่มีการเจ็บปวดใดๆ แผลที่เจาะหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบมีขนาดไม่ถึงครึ่งเซนติเมตร และใช้เวลาอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน การรักษาวิธีนี้จะทำให้เนื้องอกได้ รับยาอย่างเต็มที่ ยาสามารถออกฤทธิ์อยู่ได้นาน ทำให้เนื้องอกฝ่อเป็นบางส่วน เนื้องอกยุบตัว และขนาดเล็กลง อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่เมื่อเทียบกับการที่ไม่ได้รับการรักษาใดเลย ผู้ป่วยอาจมีอายุเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเดือน หรืออาจจะเลยปี บางรายอาจถึง 2 ปี แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้ป่วยจะเจ็บปวดและทรมานจากโรคน้อยลง สามารถมีชีวิตอยู่อย่างสบายขึ้น 
การรักษาเพื่อหวังผลหายขาด 
การรักษาเพื่อหวังผลหายขาด ได้แก่ การรักษาด้วยการทำผ่าตัดหรือการเปลี่ยนตับใหม่ การรักษามะเร็งตับ หวังผลหายขาดคือการผ่าตัด แต่มีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเท่านั้นที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดรักษา การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่หวังผลในการหายขาดได้ แต่ใช้ได้ ในผู้ป่วยที่ก้อนยังไม่โตมาก และการทำงานของตับยังดีอยู่ 
 
เกณฑ์กำหนดผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อการปลูกถ่ายตับ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับใหม่สำหรับมะเร็งตับ 
  1. ก้อนมะเร็งขนาดเล็กกว่า 5 เซ็นติเมตร 
  2. จำนวนก้อนมะเร็งมีจำนวนไม่เกิน 3 ก้อน และแต่ละก้อนมีขนาดเล็กกว่า 3 เซ็นติเมตร และทั้งหมดอยู่ในกลีบตับข้างเดียวกัน 
  3. ไม่มีการลุกลามไปยังเส้นเลือด 
  4. ไม่มีการแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น
การรักษาแบบประคับประคอง
  1. เพื่อช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวออกไป ได้แก่ การสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็งร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉีด ethanol หรือ aceticacid เข้าไปที่ก้อนมะเร็ง รวมถึงวิธีการใช้ความร้อนทำลายก้อนมะเร็ง  
  2. การใช้ยาเคมี ใช้เพียงเพื่อบรรเทาไม่สามารถหายขาดได้ 
  3. การฉายแสง ใช้เพื่อบรรเทาอาการของมะเร็ง 
  4. การใช้วิธีการผสมผสาน
 
 
 

0 ความคิดเห็น :